วันอาทิตย์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2554

พบ มีแนวโน้มเพิ่ม 7% หวังรณรงค์ช่วยห่างไกลโรค

พบ มีแนวโน้มเพิ่ม 7% หวังรณรงค์ช่วยห่างไกลโรค

 
 
           โรคอ้วนถือเป็นภัยคุกคามที่กำลังระบาด ในกลุ่มคนไทย โดยวัดจากอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมาหลายฝ่ายได้ร่วมมือกันเพื่อสร้างความตระหนักถึงภัยจากโรคอ้วน ล่าสุดชมรมโรคอ้วนแห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักอนามัย สำนักวัฒนธรรมกีฬาและการท่องเที่ยว และสำนักงานสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร โดยการสนับสนุนจากบริษัท แอ๊บบอต ลาบอแรตอรีส จำกัด จัดงาน มหกรรมคนไทยห่างไกลโรคอ้วนเพื่อรณรงค์ ให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้น รวมทั้งลดอัตราความสูญเสียทางเศรษฐกิจในระยะยาว อันสืบเนื่องมาจากคนไทยมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคอ้วนมากขึ้น และก่อให้เกิดโรคร้ายตามมาอีกมากมาย ทั้งโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดันสูง และมะเร็ง

           ศ.นพ. อภิชาติ วิชญาณรัตน์ประธานชมรม โรคอ้วนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทุกวันนี้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย พลเมืองมีแนวโน้มที่จะอ้วนเพิ่มมากขึ้น สาเหตุหลักคือวิถีการดำเนินชีวิตที่ไม่สมดุล มีการบริโภคมากเกินความต้องการของร่างกาย ออกกำลังกายน้อย ปัญหาโรคอ้วนเป็นปัญหาที่ร้ายแรงมากขึ้น ชมรมโรคอ้วนแห่งประเทศไทยจึงทำการรณรงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยว กับการป้องกันและบำบัดภาวะภัยร้ายจากโรคอ้วนอย่างต่อเนื่อง

          ด้าน ศ.นพ.ชัยชาญ ดีโรจนวงศ์เลขาธิการชมรม โรคอ้วนแห่งประเทศไทย กล่าวถึง ภัยร้ายของโรคอ้วนว่า คนส่วนใหญ่มักคิดว่าคนอ้วนคือคนที่มีน้ำหนักเยอะ แต่จริงๆ แล้วคำจำกัดความของโรคอ้วนไม่ได้หมายความเพียงคนที่มีน้ำหนักเยอะ แต่รวมถึงคนที่มีไขมันใต้ผิวหนังมากกว่าปกติด้วย

          คนอ้วนคือคนที่มีปริมาณไขมันใต้ผิวหนังมากกว่าปกติ ซึ่งสามารถวัดค่าด้วย ดัชนีมวลกายโดยเอาน้ำหนักตัว หารด้วยส่วนสูงยกกำลังสอง ค่าตัวเลขที่ได้จะบอกว่าเราอ้วนหรือไม่ และวัดง่ายๆ อีกวิธีหนึ่งคือ เอาส่วนสูง (ซม.) ลบน้ำหนัก (กก.) ผู้ชายลบด้วย 100 ถ้าสูง 170 ซม. ลบด้วย 100 น้ำหนักที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 70 กก. ผู้หญิงลบด้วย 110 ถ้าสูง 163 ซม. น้ำหนักไม่ควรเกิน 53 กก. เป็นสูตรวัดที่ง่ายที่สุด

          นอกจากนี้เลขาธิการเสริมอีกว่า สถานการณ์โรคอ้วนในประเทศไทย จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขได้ทำการตรวจดัชนีมวลกาย พบว่าคนไทยมีแนวโน้มเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้น เมื่อพิจารณาข้อมูลย้อนหลังช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าความชุกโรคอ้วนจะอยู่ที่ 15% ขณะที่ปัจจุบันเพิ่มสูงถึง 22% หรือมีอัตราเพิ่ม 7% และพบว่าคนไทยอายุ 85 ปีขึ้นไปมีประมาณ 25% ที่ดัชนีมวลกายเข้าข่ายเป็นโรคอ้วน

          เมื่อพิจารณาข้อมูลของสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศตะวันตกที่พัฒนา แล้ว สภาวะโรคอ้วนเริ่มคงที่และมีแนวโน้มจะลดลง เพราะเขามีการรณรงค์เรื่องโรคอ้วนตลอดเวลา กำหนดมาตรการและรณรงค์ภัยร้ายจากโรคอ้วน เพื่อเชิญชวนให้ผู้คนหันมาควบคุมน้ำหนัก อย่างไรก็ตาม ภาวะเด็กอ้วนในสหรัฐยังคงเพิ่มในสัดส่วนที่สูงขึ้น ขณะที่ในประเทศไทยพบว่าภาวะอ้วนทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่าง ต่อเนื่อง

          ผลเสียที่เกิดจากโรคอ้วนนั้น นอกจากจะกระทบความรู้สึกทางด้านจิตใจแล้ว สิ่งสำคัญกว่าคือโรคร้ายที่รอคุกคามเราอยู่ เช่น โรคเบาหวาน คนอ้วนมีโอกาสเป็นเบาหวานสูงกว่าคนไม่อ้วน 7 เท่า โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งก่อให้เกิดโรคหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคข้อเสื่อม คนอ้วนส่วนใหญ่จะเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจขาดเลือด นอกจากนี้ยังมีผลต่อลำไส้ มีการศึกษาพบว่าอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งก็เพิ่มอัตราเสี่ยงในคนอ้วนด้วย

          สำหรับแนวทางการรักษาโรคอ้วนที่ดี ต้องมีความมั่นใจ มีความตั้งใจจริง และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน สิ่งสำคัญที่สุดคือการมีสติ ควรพิจารณาว่าอาหารนั้นมากเกินความจำเป็นต่อร่างกายหรือเปล่า จำเป็นต้องทานไหม ถ้าเราต้องการลดน้ำหนัก ไม่ต้องท่องสูตรว่าอันนี้กี่แคลอรี แค่ทานให้น้อยลง อาจจะน้อยลงสัก 50-70% จากที่เคยทาน ทานอาหารให้ครบหมู่ในปริมาณที่ลดลง อย่าทานตามอารมณ์ คนส่วนใหญ่ดีใจ เสียใจ ตื่นเต้น อกหักก็ทาน ทำให้ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ การออกกำลังกายมีความสำคัญมาก ทำให้ร่างกายเก็บกล้ามเนื้อไว้ และทำให้กระดูกแข็งแรง

          นอกจากนี้ ศ.นพ.สุรัตน์ โคมินทร์ประธาน ฝ่ายวิชาการชมรมโรคอ้วนแห่งประเทศไทย กล่าวถึงประเด็น กินอย่างไรให้ห่างไกลโรคอ้วนว่า เราจะต้องกำหนดกฎกติกาเกี่ยวกับการทานอาหาร เช่น ช่วงที่ไม่มีเวลาเราอาจใช้บันได 7 ขั้นในการควบคุมน้ำหนัก 1.ต้องรู้ตน หมายความว่าต้องรู้ว่าตัวเองอ้วนหรือไม่ 2.ศึกษาข้อมูลจากเว็บไซต์ของกระทรวงสาธารณสุข หรือชมรมโรคอ้วนแห่งประเทศไทย 3.วางแผนว่าจะกินอาหารอะไร มากน้อยแค่ไหน 4.รู้ขยับ ขยับร่างกายออกกำลังกาย 5.ชวนเปลี่ยนแปลง ปรับเปลี่ยนจากอาหารที่ทำให้เราอ้วน เช่น อาหารทอด มาเป็นต้ม นึ่ง ย่าง ปิ้ง 6.หลีกเลี่ยงอาหาร Junk Food อาหารจานด่วน อาหารถุงและห่อที่อุดมด้วยแป้งและน้ำมัน 7.อาหารแลกเปลี่ยน ถ้าอยากทานแต่ไม่ให้อ้วน เราต้องรู้จักแลกเปลี่ยน เช่น ขนมปัง 1 แผ่นเท่ากับข้าว 1 ทัพพี ทุเรียนเรากินพูหนึ่ง แลกข้าว 1 ทัพพี นั่นหมายถึงถ้าอยากกินผลไม้ เราต้องเอาข้าวออก การจะควบคุมน้ำหนักได้นั้นขึ้นอยู่กับการกิน เลือกกินให้ถูกต้อง เลือกกินในปริมาณพออิ่ม ไม่ใช่กินจนเกินปริมาณที่ร่างกายต้องการ และควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ





ที่ มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
Text Backlink Exchanges AllNewsSite Link Exchange